หนังสือน่าอ่าน : ปัญญาจารย์ บทที่ 1-2

6 พฤศจิกายน 2565



ปัญญาจารย์
ผู้เขียน : ซาโลมอน
สาระสำคัญ : ความอนิจจังของชีวิตที่ปราศจากพระเจ้า
ช่วงเวลาที่เขียน : ประมาณ 935 ก่อน ค.ศ.

สรุปบทที่ 1 :
ทุกสิ่งล้วนอนิจจัง มนุษย์ ได้ประโยชน์อะไรจากการตรากตรำทุกอย่างของเขา คนรุ่นหนึ่งจากไป และคนอีกรุ่นหนึ่งก็มา แต่แผ่นดินโลกยังคงเดิมอยู่เป็นนิตย์ แม่น้ำไหลไปสู่ที่ใด ก็ไหลไปสู่ที่นั่นอีก สารพัดก็เหนื่อยอ่อนไปกันหมด พระเจ้าประทานภารกิจที่ยากลำบากให้มนุษย์ทำ เพื่อพวกเขาจะสาละวนกับสิ่งที่ทำ สารพัดก็อนิจจัง คือกินลมกินแล้ง เพราะเมื่อสติปัญญามากขึ้น ก็มีความทุกข์ระทมมากขึ้น และบุคคลที่เพิ่มความรู้ก็เพิ่มความเศร้าโศก

อธิบาย :
กิจกรรมทุกอย่างของเราในโลกล้วนอนิจจังและไร้จุดประสงค์เมื่อกระทำโดย ไม่คำนึงถึง พระประสงค์ของพระเจ้า ยังเน้นด้วยว่าสรรพสิ่งที่มีอยู่เองก็อยู่ภายใต้ความอนิจจังและความเสื่อมโทรม ความหวังผิด ๆ ที่ผู้คนใส่ไว้ในสังคมโลก และกลับมาตระหนักว่าชีวิตที่ปราศจากพระเจ้านั้นไม่มีความหมายและไม่สามารถทำให้เกิดความสุขที่แท้จริงได้ ทางแก้ไขปัญหานี้จะพบได้ในความเชื่อและความไว้วางใจในพระเจ้า นี่คือสิ่งเดียวที่จะทำให้ชีวิตมีคุณค่าเราต้องมองไกลเหนือสิ่งของในโลก มนุษย์ไม่สามารถมองดูธรรมชาติเพื่อค้นหาความหมายในการดำรงอยู่บนโลกหรือหาความพึงพอในทั้งสิ้นในโลก ไม่มีกิจกรรมประเภทใหม่ ความปรารถนาของมวลมนุษย์ยังคงเหมือนเดิม
มนุษย์ไม่สามารถค้นพบจุดประสงค์ของชีวิต ด้วยตนเอง และไม่สามารถกลับความผิดในโลกให้เป็นสิ่งถูกต้องได้ การแก้ไขปัญหานี้เรียกร้องบางสิ่งที่เหนือกว่าสติปัญญา สติปัญญานี้มาจาก “จากเบื้องบน” พระปัญญาซึ่งทรงซ่อนไว้นั้น และที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ก่อนปฐมกาล เพื่อการรับศักดิ์ศรีของเรา

สรุปบทที่ 2 :
ความสนุกสนานเพลิดเพลินก็อนิจจัง ข้าพเจ้าสะสมเงินทองไว้ และสะสมทรัพย์สมบัติอันควรคู่กับกษัตริย์และควรคู่กับเมืองทั้งหลาย และมีความสนุกสนานทางเพศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชอบใจมนุษย์ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเป็นและยิ่งใหญ่กว่าทุกคนที่เคยอยู่มาก่อนข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามิได้ห้ามใจจากความสนุกสนานทุกอย่างเพราะใจข้าพเจ้าพบความเพลิดเพลินจากการตรากตรำทั้งหมดของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าหันมาดูทุกสิ่งที่มือข้าพะเจ้าทำ และผลของการตรากตรำที่ข้าพเจ้าทำลงไปด้วยความเหน็ดเหนื่อย และดูเถิด ทุกอย่างก็อนิจจัง คือ กินลมกินแล้ง และไม่มีประโยชน์อะไรภายใต้ดวงอาทิตย์
สติปัญญาและความโฉดเขลาล้วนอนิจจัง ข้าพเจ้าเห็นว่าสติปัญญามีประโยชน์กว่า ความเขลาเหมือนความสว่างมีประโยชน์กว่าความมืด เคราะห์อย่างเดียวกันเกิดขึ้นแก่พวกเขาทุกคน ถ้าเช่นนั้นแล้วข้าพเจ้าจะมีสติปัญญามากมายไปทำไมเล่า นี่ก็อนิจจังเหมือนกัน เพราะไม่มีใครจดจำถึงคนมีสติปัญญาและคนเขลาตลอดไป เมื่อถึงเวลาในอนาคตก็ลืมกันไปหมดแล้ว โถคนมีสติปัญญาก็ตายเหมือนคนเขลา
การตรากตรำก็อนิจจัง ข้าพเจ้าจึงเกลียดชีวิต ข้าพเจ้าเกลียดการตรากตรำทั้งสิ้นซึ่งข้าพเจ้าตรากตรำอยู่ภายใต้ด้วงอาทิตย์เพราะข้าพเจ้าต้องละการนั่นไว้ให้แก่คนที่มาภายหลังข้าพเจ้า กระนั้นเขาก็ครอบครองการตรากตรำทุกอย่างของข้าพเจ้า แต่แล้วก็ละส่วนแบ่งของเขาให้อีกคนหนึ่งที่หาได้ตรากตรำทำเพื่อการนั้นไม่ นี่ก็อนิจจังด้วยและสามานย์ยิ่ง เพราะว่าปีเดือนทั้งหมดของเขามีแต่ความเจ็บปวด และภาระกิจของเขาก่อความทุกข์ระทม ถึงกลางคืนจิตใจของเขาก็ไม่หยุดพักสงบ นี่ก็อนิจจังด้วย สำหรับมนุษย์นั้นไม่มีอะไรดีไปกว่า กินและดื่ม กับชื่นชมผลจากการตรากตรำของเขา
พระเจ้าประทาน สติปัญญา ความรู้ และความยินดีให้แก่คนที่พระองค์พอพระทัย แต่ส่วนคนบาปพระองค์ประทานภารกิจที่ต้องเก็บเกี่ยวและสะสมเพื่อให้แก่ผู้ที่พระเจ้าพอพระทัย นี่ก็อนิจจังด้วย คือ กินลมกินแล้ง
อธิบาย :
ซาโลมอนเล่าว่าเขาพยายามใช้การเริงสำราญ เพื่อค้นหาความอิ่มใจและชีวิตที่ดี แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลให้เกิดความสุขอันแท้จริง ชีวิตก็ยังว่างเปล่าไม่มีความสุขใจ คนมีปัญญาจะพบความยุ่งยากน้อยกว่าคนโง่เขลาแต่ผลประโยชน์ทั้งปวงนี้จะถูกยกเลิกไปเมื่อเขาตาย ด้วยเหตุนี้ สติปัญญาฝ่ายโลกก็ไม่มีคุณค่าถาวรที่แท้จริง การงานของมนุษย์หากไม่ได้อุทิศถวายแด่พระเจ้าก็ไม่มีคุณค่าถาวร แม้แต่ทรัพย์สมบัติของคนที่ทิ้งไว้หลังจากตาย ก็อาจจะมีบางคนมาจับจ่ายใช้ไปอย่างโง่เขลา
กิจกรรมทุกอย่างในชีวิต จะให้ความสุขใจได้ก็ต่อเมื่อคนนั้นมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพระเจ้าเท่านั้น พระองค์เท่านั้นที่สามารถช่วยให้เราค้นพบความสุขยินดีในชีวิต เราต้องมองว่าชีวิตเป็นของขวัญจากพระเจ้าและคาดหวังให้พระองค์กระทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จในชีวิตของเรา

No Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *