ปัจจัย 3 อย่าง ของการเกิดนิสัย เข้าใจมัน ก็จัดการมันได้ง่าย
ซื้อหนังสือได้ที่
• Shopee https://atth.me/go/sM8JSGLU
• Lazada https://atth.me/go/sn0qNhON
บทที่ 1 ของ Tiny Habits พูดถึงการเกิดพฤติกรรม ถ้าเข้าใจว่าทำไมเราถึงทำสิ่งหนึ่งแต่ไม่ทำอีกสิ่งหนึ่ง ก็สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของเราได้ง่ายๆ ดังนั้นเรามาดูกลไกของมันกันครับ
กลไกการเกิดพฤติกรรม
นิสัย หรือพฤติกรรมจะเกิดขึ้นเมื่อมีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ แรงจูงใจ ความสามารถ และสัญญาณ
เขียนเป็นสูตรง่ายๆ ว่า B = MAP
• B = Behavior หรือ พฤติกรรม
• M = Motivation หรือ แรงจูงใจ คือ ความอยากทำพฤติกรรมนั้น
• A = Ability หรือ ความสามารถ คือ เราสามารถทำพฤติกรรมนั้นได้ง่ายหรือยาก
• P = Prompt หรือ สัญญาณ คือ หรือสิ่งกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมนั้น จะเป็นอะไรก็ได้ครับ ตั้งแต่สิ่งที่เรารับมาทางประสาทสัมผัส ความคิด หรือกิจกรรมบางอย่าง เราคิดสัญญาณขึ้นมาเองเลยก็ได้ เช่น ทุกครั้งที่ผมนั่งบนเก้าอี้ ทุกครั้งที่อาบน้ำเสร็จ ทุกครั้งที่เล่นเกมชนะ และอื่นๆ
ดอกเตอร์ BJ Fogg เรียกหลักการนี้ว่า โมเดลพฤติกรรมของฟ็อกก์
โมเดลพฤติกรรมของฟ็อกก์ คือกราฟที่มี 3 เส้น
• เส้นตั้ง คือ แรงจูงใจที่จะทำพฤติกรรมนั้น ยิ่งสูงยิ่งมีแรงจูงใจเยอะ
• เส้นนอน คือ ความสามารถของเราที่จะทำพฤติกรรมนั้น ยิ่งไปทางขวายิ่งง่าย
• เส้นโค้ง คือ เส้นตัดสินว่าเมื่อมีสิ่งกระตุ้นเราจะทำพฤติกรรมนั้นรึเปล่า เราจะทำอะไรก็ตามที่อยู่เหนือหรือทางขวาเส้นโค้งนี้ และจะไม่ทำถ้าอยู่ล่างหรือทางซ้ายของเส้นนี้
ลองดูตัวอย่างนะครับ
พฤติกรรมเล่นเกมเมื่อผมคิดงานไม่ออก
ผมสามารถเล่นเกมได้ง่ายมากๆ เพราะแค่คลิกก็เล่นได้แล้ว เมื่อการเล่นเกมทำได้ง่าย มันก็เลยอยู่ทางขวาของกราฟ และแรงจูงใจที่จะเล่นเกมก็สูงมากๆ ทำให้พฤติกรรมนี้อยู่สูงมากในกราฟด้วย
เมื่อรวมปัจจัยด้านแรงจูงใจและความสามารถเข้าด้วยกัน พฤติกรรมนี้อยู่ทางขวาของเส้นโค้ง และเมื่อเจอสัญญาณ คือ คิดงานไม่ออก ผมจะเล่นเกมอย่างแน่นอน
อีกซักตัวอย่างนะครับ
พฤติกรรมนอนก่อน 4 ทุ่ม
สำหรับผม การนอนก่อน 4 ทุ่มเป็นเรื่องที่ยาก เพราะนอนไม่หลับและน่าเบื่อมากๆ ถึงแม้ว่าผมจะมีแรงจูงใจให้ทำพฤติกรรมนี้บ้างก็ตาม
แต่เมื่อรวมปัจจัยด้านแรงจูงใจและความสามารถเข้าด้วยกัน พฤติกรรมนี้อยู่ทางซ้ายของเส้นโค้ง เมื่อเจอสัญญาณ คือเวลา 4 ทุ่ม ผมจะไม่นอน
สรุปหลักการ
เราจะทำหรือไม่ทำอะไรเกิดจาก 3 สิ่ง คือ แรงจูงใจ ความสามารถ และสัญญาณ ถ้ามีแรงจูงใจและความสามารถเหมาะสม เราจะทำพฤติกรรมนั้นเมื่อมีสัญญาณหรือสิ่งกระตุ้นเกิดขึ้น
แต่ถ้าแรงจูงใจหรือความสามารถไม่มากพอ ถึงจะมีสิ่งกระตุ้น เราก็จะไม่ทำพฤติกรรมนั้น
แรงจูงใจและความสามารถใช้ทดแทนกันได้ ยิ่งมีแรงจูงใจสูง ก็มีโอกาสสูงขึ้นที่จะลงมือทำกิจกรรมยากๆ ในทางกลับกัน ถ้ากิจกรรมนั้นง่ายมากๆ เราก็ทำได้โดยไม่ต้องใช้แรงจูงใจเลย
นอกจากแรงจูงใจกับความสามารถ ปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้เกิดพฤติกรรม คือ สัญญาณ
สัญญาณ หรือสิ่งกระตุ้น ทำหน้าที่เหมือนสวิตช์ให้เราลงมือทำอะไรซักอย่าง ถ้าไม่มีสัญญาณ เราจะไม่ทำพฤติกรรมนั้น
ตัวอย่างเช่น
• เราจะรับโทรศัพท์ เมื่อได้ยินเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ในที่นี้เสียงโทรศัพท์คือสัญญาณ
• ถ้าเห็นขนมวางอยู่ ดอกเตอร์ Fogg จะอยากกินขนมมาก ๆ ในที่นี้การมองเห็นขนมคือสัญญาณ
• เมื่อตื่นนอนตอนเช้า เราจะพูดคำว่า วันนี้เป็นวันที่ยอดเยี่ยม การตื่นนอน คือ สัญญาณครับ
วิธีเปลี่ยนนิสัย
เพราะว่านิสัย คือ พฤติกรรมที่ทำซ้ำ ๆ จนเคยชิน ดังนั้นเราจึงใช้โมเดลพฤติกรรมของฟ็อกก์ในการเปลี่ยนนิสัยได้ด้วย
หนังสือแนะนำว่าถ้าเราต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมให้ลองเปลี่ยนที่สัญญาณหรือความสามารถก่อน และแรงจูงใจคือสิ่งที่เราจะลองเปลี่ยนเป็นสิ่งสุดท้าย เพราะเราเอาแน่เอานอนกับแรงจูงใจไม่ได้นั่นเอง
มาดูตัวอย่างกันครับ
แคทีเกลียดนิสัยนอนเล่นมือถือบนเตียงมาก เพราะทำให้เธอไม่ได้ออกกำลังตอนเช้าอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่ก็หยุดนิสัยนี้ไม่ได้ มาดูกันว่าเราจะแก้ปัญหานี้ได้ยังไง
พฤติกรรมของเธอคือ
แคทีใช้มือถือเป็นนาฬิกาปลุก เมื่อเธอตื่นก็ดึงสายชาร์จออก แล้วก็ไถหน้าจอไปเรื่อย ๆ สุดท้ายก็เพลินจนไม่ได้ออกกำลัง
แคทีมีแรงจูงใจในการเล่นมือถือสูงมาก และเธอยังสามารถทำมันได้ง่าย ส่วนสัญญาณของมันก็ชัดเจน จากการที่เธอใช้โทรศัพท์เป็นนาฬิกาปลุกทุกเช้า ทำให้นี่เป็นพฤติกรรมที่แคทีจะทำอย่างแน่นอน
แล้วเราจะเปลี่ยนอะไรได้บ้าง
แคทีมีแรงจูงใจในการเล่นมือถือสูง และไม่น่าจะเปลี่ยนได้ง่ายๆ ดังนั้นเราต้องลองมาดูอีกสองปัจจัย คือ ความสามารถ และสัญญาณ
เราลองเปลี่ยนด้านความสามารถดูก่อน
เธอจะลองลบโซเชียลมีเดียออกจากมือถือไปเลยก็ได้ แต่ก็ดูสุดโต่งเกินไป เธออาจจะเก็บมือถือเอาไว้ในรถ หรือวางไว้หลังตู้เย็น
เพราะแรงจูงใจของเธอสูงมาก แคทีเลยต้องลองทำหลายวิธี จนกระทั่งวิธีที่ได้ผล คือ เธอวางมือถือไว้ในครัว แล้วใช้นาฬิกาปลุกแบบเก่าในห้องนอน
เมื่อพฤติกรรมติดมือถือหายไป เธอก็ออกกำลังตอนเช้าได้อย่างที่ตั้งใจไว้โดยอัตโนมัติ
สรุป
พฤติกรรมจะเกิดขึ้นเมื่อ มีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ แรงจูงใจ ความสามารถ และสัญญาณ
• แรงจูงใจ คือ ความอยากทำพฤติกรรมนั้น
• ความสามารถ คือ เราสามารถทำพฤติกรรมนั้นได้ง่ายหรือยาก
• สัญญาณ คือ หรือสิ่งกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมนั้น จะเป็นอะไรก็ได้ครับ ตั้งแต่สิ่งที่เรารับมาทางประสาทสัมผัส ความคิด หรือกิจกรรมบางอย่าง เราคิดสัญญาณขึ้นมาเองเลยก็ยังได้
เราสามารถแก้ไขพฤติกรรมจากจุดไหนก็ได้ และอาจต้องลองทำหลาย ๆ วิธี แต่แรงจูงใจจะเป็นปัจจัยสุดท้ายที่เราจะแก้
เช่น ถ้าคุณอยากกินขนมทุกครั้งที่เห็นถุงขนมในห้อง เราคงแก้แรงจูงใจได้ยากเพราะคนมันอยากกินอะเนอะ วิธีแก้อาจทำได้โดยการเอาถุงขนมไปเก็บไว้ที่อื่นไม่ให้เราเห็น
หรือ ผมจะอยากเล่นเกมทุกครั้งเมื่อเปิด PC มาแล้วเห็นไอคอนของเกมอยู่บนหน้าจอ เพื่อลดสัญญาณ คือ การมองเห็นไอคอนของเกม ผมเลยลบไอคอนทิ้งไปหมด ถ้าอยากเล่น ผมต้องเสิร์จหาเอาเท่านั้น ซักก็ช่วยได้บ้างครับ
One Comment
ทุกครั้งที่อยากกินขนม ผมจะกระโดดตบ 3 ที!!