ทำไมถึงภาษีถึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับธุรกิจ และนี่คือเหตุผลที่ผมตัดสินใจเขียนหนังสือเล่มนี้ครับ โดยหนอมหนังสือในตอนนี้จะมาเล่าให้ฟังว่า ผมได้เรียนรู้อะไรจากการเขียนหนังสือเล่มนี้บ้าง
เนื่องจากในช่วงนี้มีแพลนที่จะเขียนเล่มใหม่ เลยถือโอกาสมาสรุปข้อคิด 3 ข้อสั้นๆ ที่ผมได้จากหนังสือเล่มนี้หลังจากที่เขียนจบให้ฟังกันครับ
1. อยากเริ่มต้นทำความเข้าใจเรื่องภาษี ต้องรู้ก่อนว่าเราจำเป็นต้องรู้แค่ไหน
บางครั้งเราต้องถามตัวเองว่าเราจำเป็นต้องรู้เรื่องภาษีมากแค่ไหน ในส่วนที่เกี่ยวกับเรา ไม่จำเป็นต้องให้มากที่สุด เพราะมันจะปวดหัวครับ หลายครั้งเวลาเราเรียนเรื่องยาก ๆ เรามักเข้าใจไปเองว่าการเรียนรู้ให้มากให้เยอะเป็นเรื่องที่ดี แต่จริงๆ แล้วเราต้องเริ่มจากคำถามว่า เราจำเป็นต้องรู้เรื่องไหนบ้าง ที่มันเกี่ยวข้องกับชีวิตเรา
เช่นถ้าหากเราเป็น เจ้าของธุรกิจ าจจะเริ่มต้นจากการเรียนรู้จากภาษีธุรกิจเบื้องต้นก่อนว่า ธุรกิจที่เราทำนั้นมีภาษีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง
ฟังอีกทีนะครับ สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ว่า ธุรกิจที่คุณทำต้องเสียภาษีอะไร ไม่ใช่เรียนจากการตั้งคำถามว่า ธุรกิจต้องเสียภาษีอะไรบ้าง? (อ่านดีๆ นะครับ สองประโยคนี้ความหมายไม่เหมือนกันครับ) เพราะถ้าเราเริ่มจากตัวเราก่อน เราจะจำกัดคำถามได้ง่ายขึ้นนั่นเองครับ
เช่น ทุกวันนี้ทำธุรกิจขายของออนไลน์ (ขายอะไรล่ะ? มีรายละเอียดอะไร กฎหมายให้ข้อจำกัดอะไรบ้างไหม ลักษณะการทำงานเป็นอย่างไร) ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง (แล้วธุรกิจทำอะไร เจอใครบ้าง มีอะไรบ้าง รู้หรือยังว่ากำไรเท่าไร)
เริ่มจากสิ่งที่เรามี ทำความเข้าใจไป แล้วก็ค่อยๆเติมความรู้จากตรงนี้ จะทำให้เรียนได้ง่ายกว่า เพราะความรู้ภาษีเป็นความรู้ที่ต้องผ่านการเรียนท้้งทฤษฏีและลงมือทำครับ
2. ภาษีไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่มีวันเป็นเรื่องง่าย
โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่า “ภาษี” ไม่ใช่ “เรื่องง่าย” และด้วยความรู้ความเข้าใจภาษีที่ผมได้เรียนรู้มา มันก็ตอกย้ำว่า “ภาษีเป็นเรื่องยาก” และผมคงไม่กล้าประกาศตัวเองว่าจะทำให้ “ภาษี” เป็น “เรื่องง่าย”
บอกตรงว่าตอนแรก ๆ ผมก็พยายามทำแบบนั้นแหละครับ แต่ยิ่งทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ ก็เข้าใจได้ว่า ความง่ายที่เราพูดถึงมัน ไม่ได้แปลว่าเราเก่ง แต่มันแปลว่าเราอาจจะยังเข้าใจไม่มากพอ หรือ ไม่รู้ว่ามันยากตรงไหนก็ได้
แต่ผมมีความเชื่อว่า เราควรทำให้ภาษีเป็นเรื่องที่เรียบง่าย นั่นคือ มีความเข้าใจ และ เปิดเผยได้อย่างชัดเจน เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงความรู้ภาษีที่ถูกต้องจริงๆ และทำให้มันสนุกที่สุดในกรอบของความรู้ที่สัมผัสได้ ซึ่งก็ต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆครับ
3. เทคนิคมากมาย สุดท้ายอยู่ที่คำถามเดียวครับ เรามีเงินเหลือมากขึ้นหรือเปล่า
เราได้ยินเทคนิคมากมายครับ เช่น จดบริษัทหลายๆ บริษัทเพื่อกระจายกำไรและรายได้ โดยที่หวังว่าจะเสียภาษีน้อยลง, วิธีกระจายรายได้หลบภาษีแบบไม่มีทางที่สรรพากรจะเจอได้, วิธีหลบเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม กระจายรายได้ไม่ให้ถึง 1.8 ล้านบาท, ลดหย่อนภาษีโดนเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตครบก่อนกำหนด, กระจายวิธีการรับรู้รายได้หลายปี เพื่อกระจายฐานภาษี ฯลฯ
ที่สำคัญที่สุด คือคำถามนี้ครับ เมื่อใช้เทคนิคพวกนี้แล้วมีปัญหา ใครรับผิดชอบให้กับเรา และถ้าหากมีปัญหาแล้วต้องจ่ายเงินเพิ่ม ส่วนนี้จะเรียกได้ว่ามันเป็นเทคนิคที่ถูกต้องจริงไหม ?
ผมมองว่า สิ่งที่ต้องคิดคือ ไม่ว่าจะเลือกทางไหน มันพาเราไปเพิ่มโอกาสที่จะถูกตรวจสอบหรือเสียภาษีเพิ่มในอนาคตหรือเปล่า เพราะภาษีเป็นเรื่องของกฎหมายครับ ถ้าทำผิดขึ้นมา เราต้องเสียค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก และมันจะไปจบที่คำถามว่า หรือว่าถ้าหากเราทำถูกต้องทุกอย่าง จ่ายไปตามกฎหมาย ได้ข้อมูลมาครบในการตัดสินใจ แบบนี้มันจะดีกว่าไหม
อย่างไรก็ดี ผมไม่ได้บอกว่าแบบไหนดีกว่านะครับ แต่สิ่งที่ต้องการเน้นคือ เทคนิคในการจัดการภาษีที่ว่ามาทั้งหมด สุดท้ายเรามีเงินเหลือมากขึ้นหรือเปล่า ?
เพราะถ้าหากเงินเราเหลือน้อยลงจากความพยายามทั้งหมดที่ว่ามา บางทีการอยู่เฉยๆ แล้วเอาเวลาไปทำอย่างอื่น อาจจะดีกว่าก็ได้ครับ
ฝากติดตาม หนอมหนังสือ 5 นาทีที่เราจะมาสรุป 3 ข้อที่ได้รับจาก หนัง ซีรีส์ และ หนังสือ โดยพรี่หนอม TAXBugnoms เจ้าเก่า เจ้าเดิมครับผม
No Comments